ระบบปฎิบัติการ chrome
Chrome OS จะใช้แก่น (kernel) ของระบบปฏิบัติการลินุกซ์เป็นแกนกลาง จากนั้นกูเกิลจะพัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนติดต่อผู้ใช้ของตัวเองเพิ่มเข้าไป เป้าหมายหลักของระบบปฏิบัติการนี้คือบูตเครื่องให้เร็วที่สุด และเปิดเว็บเบราว์เซอร์ Chrome ขึ้นมาให้ผู้ใช้เข้าถึงบริการต่างๆ ของกูเกิลที่อยู่บนเว็บเพจได้
ระบบปฏิบัติการ Chrome OS จะเน้นไปที่ตลาดเน็ตบุ๊ก (โน้ตบุ๊กขนาดเล็กที่กำลังได้รับความนิยม) กูเกิลจะแจกฟรีและเปิดเผยซอร์สโค้ด ปัจจุบันมีผู้ผลิตเน็ตบุ๊กหลายรายเข้าร่วมกับกูเกิลแล้ว เช่น Acer, ASUS, HP, Lenovo, Toshiba เป็นต้น
Chrome OS จะเป็นคนละตัวกับ Android ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการบนมือถืออีกตัวของกูเกิล ทั้งคู่พัฒนาบนฐานของลินุกซ์เหมือนกัน และประกาศเป็นโอเพนซอร์สเหมือนกัน เพียงแต่มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน
กูเกิลประกาศว่าระบบปฏิบัติการ Chrome OS จะเริ่มออกให้ใช้จริงได้ในครึ่งหลังของปี 2010
บทวิเคราะห์ SIU
ถึงแม้ว่ากูเกิลจะหันมาทำระบบปฏิบัติการสำหรับคอมพิวเตอร์อย่างจริงจัง แต่ก็ไม่ได้แปลว่ากูเกิลจะกลายมาเป็นคู่แข่งทางตรงกับไมโครซอฟท์ และกูเกิลเองก็ฉลาดพอที่จะเลี่ยงการแข่งขันกับไมโครซอฟท์ตรงๆ
ระบบปฏิบัติการอย่างวินโดวส์และแมคอินทอชนั้นเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับงานทั่วไป (generic OS) ซึ่งสามารถนำมาทำอะไรก็ได้ ตั้งแต่พิมพ์งาน เล่นเน็ต ไปจนถึงทำกราฟฟิกสามมิติหรือออกแบบห้องเครื่องของรถยนต์
แต่ Chrome OS นั้นเป็นระบบปฏิบัติการที่ค่อนข้างเฉพาะคือเอาไว้เล่นเน็ตเป็นหลัก ความต่างอยู่ที่กูเกิลพยายามจะเปลี่ยนซอฟต์แวร์แบบเดิมๆ ที่ใช้กันมานานให้ไปอยู่บนเว็บ เช่น Google Docs คือโปรแกรม Microsoft Word เวอร์ชันใช้งานผ่านหน้าเว็บนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าซอฟต์แวร์ทุกตัวจะสามารถแปลงไปอยู่บนเว็บได้ทั้งหมด ยังไงตลาดระบบปฏิบัติการแบบดั้งเดิมของไมโครซอฟท์ก็จะคงอยู่ไปอีกนาน
ทั้ง Chrome OS และเว็บเบราว์เซอร์ Chrome ไม่ใช่ธุรกิจหลักของกูเกิล แต่เป็น “ช่องทาง” ที่จะทำให้ลูกค้าเข้าสู่ธุรกิจหลักของกูเกิลได้ต่างหาก กูเกิลทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำจากโฆษณาออนไลน์ ดังนั้น กูเกิลจะทำทุกอย่างเพื่อให้คนเข้าใช้บริการของกูเกิลอย่าง Gmail, Google Maps หรือ Google Docs ให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มยอดขายโฆษณาของตัวเอง สิ่งที่เราเห็นในช่วง 3-4 ปีให้หลัง ไม่ว่าจะเป็นมือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android, Chrome และ Chrome OS ล้วนแต่เป็นเครื่องมือที่ให้คนเข้าเว็บในเครือกูเกิลเยอะๆ เท่านั้น
ในอดีตกูเกิลพึ่งพิงบริษัทหรือหน่วยงานอื่นๆ ในการพัฒนาซอฟต์แวร์เหล่านี้ เช่น Mozilla ที่ทำเบราว์เซอร์ Firefox หรือแอปเปิลที่ทำระบบปฏิบัติการ iPhone แต่สุดท้ายกูเกิลก็เริ่มเรียนรู้ว่าต้องเป็นผู้ควบคุมเทคโนโลยีเองเท่านั้น จึงจะมีอำนาจเต็มในการกำหนดทิศทางการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เป็นไปอย่างที่กูเกิลต้องการ
ตลาดหลักของ Chrome OS จะเป็นอุปกรณ์ชนิดใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น เน็ตบุ๊กหรือ tablet pc ที่ใช้ท่องเน็ตเป็นหลัก กูเกิลจะไม่สนใจตลาดพีซีหรือโน้ตบุ๊กที่ไมโครซอฟท์และแอปเปิลครองอยู่แล้ว กลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์เดียวกับที่กูเกิลสร้าง Android จับตลาดมือถือสมาร์ทโฟนที่เพิ่งบูมเมื่อเร็วๆ นี้ ความสำเร็จของ Chrome OS ขึ้นกับว่ากูเกิลพยากรณ์ตลาดอุปกรณ์เหล่านี้ว่าจะมีอนาคตสดใสมากเพียงใด ไมโครซอฟท์จะยังเป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลต่อไป แต่จะไม่ใช่ไมโครซอฟท์อภิมหาอำนาจเช่นเดียวกับยุค 90s-2000s อีกแล้ว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น